HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

ช้างบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

“ช้างบำบัด” (elephant therapy หรือ elephant - assisted therapy) เป็นการบำบัดทางเลือกอีกรูปแบบ ที่นำช้างมาใช้เป็นสื่อในการบำบัดได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กออทิสติก หลังจากอาชาบำบัดเป็นที่นิยมแพร่หลายพอสมควร

ช้างเป็นสัตว์บก เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีขนาดสมองใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดสมองหนักกว่ามนุษย์ 5-6 เท่า มีระบบการพัฒนาของสมองคล้ายกับมนุษย์ มีความสามารถในการเรียนรู้สูง ขึ้นอยู่กับผู้สอน ดังนั้นการฝึกช้างอย่างเป็นระบบ จะสามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับการบำบัดได้

ช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่และขี้เล่น จึงกระตุ้นความสนใจได้มากเป็นพิเศษ ช้างเป็นสัตว์สังคม มีปฏิสัมพันธ์ในเชิงการยอมรับสมาชิกเข้าสู่กลุ่ม เป็นคุณลักษณะเด่นที่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เด็กออทิสติกขาด ทำให้เด็กมีการพัฒนาการในการเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม และการเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางสังคมได้ดีขึ้น

การบำบัดทางเลือก

ช้างชอบการสัมผัส ชอบการแสดงความรัก มักใช้งวงสัมผัสร่างกายเด็ก ตอบสนองการกอดและสัมผัสที่นุ่มนวล มีเสียงที่ส่งผ่านความสุขและเด็กรับรู้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี

ช้างยังมีโครงสร้างร่างกายที่สมดุล ทำให้เด็กสามารถขึ้นนั่งขี่บนหลังช้างได้อย่างมั่นใจ และสนุกสนานกับกิจกรรมการขี่ช้างเพื่อช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัว นอกจากนี้ ช้างมีความเร็วในการเดินเท่ากับมนุษย์ทำให้การใช้ช้างเพื่อกิจกรรมการบำบัดสอดคล้องกับธรรมชาติการเคลื่อนไหวของมนุษย์

สิ่งเหล่านี้ได้ผลลัพธ์คล้ายกับการฝึกกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) แต่แทนที่จะทำในห้องฝึกเฉพาะทาง ก็มาทำบนหลังช้างแทน เปลี่ยนจากห้องเรียนหรือโรงพยาบาล มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ก็สามารถช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น

การประยุกต์ใช้ในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม สามารถจัดกิจกรรมพัฒนาการเข้าสังคม การวางแผนกิจกรรมประจำวัน โดยใช้ช้างเป็นแกนหลัก เพื่อให้เด็กมีการรับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ทำประโยชน์ และช่วยเหลือการงาน ช่วยเหลือช้าง เช่น กิจกรรมการให้อาหารช้าง การเข้าคิวรอซื้ออาหารช้าง การเลือกและวางแผนการซื้ออาหารช้าง การอาบน้ำให้ช้าง การขี่ช้างไปกินอาหาร การเก็บมูลช้าง เป็นต้น

โครงการช้างบำบัด (Thai elephant - assisted therapy project: TETP) ซึ่งเริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2550 เป็นการศึกษาวิจัยครั้งแรกของโลก ที่นำเอาช้างมาช่วยในการบำบัดบุคคลออทิสติก เกิดจากความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญ กับสถาบันคชบาลแห่งชาติ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จังหวัดลำปาง

โดยนักกิจกรรมบำบัดออกแบบและปรับขั้นตอนของกิจกรรมให้เหมาะกับความสามารถของผู้รับบริการ อาศัยช้างในการสร้างแรงจูงใจ ความสนใจในการทำกิจกรรม สร้างเสริมสัมพันธภาพระหว่างคนกับสัตว์ เพิ่มการรับรู้สิ่งแวดล้อม ความรู้ความเข้าใจกฎกติกาทางสังคม และทักษะกิจกรรมการดำเนินชีวิต ช่วยให้เกิดเรื่องของความประทับใจที่เด็กอยากบอกเล่า เพิ่มพูนความสามารถในการใช้ภาษา อารมณ์ และการแสดงออก

รูปแบบกิจกรรม ในการศึกษานำร่องให้อาสาสมัครเด็กออทิสติก 4 คน ช่วงอายุ 11-19 ปี มาทำกิจกรรมร่วมกับช้างขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 4 เชือก ใน 8 กิจกรรม ตั้งแต่ การรับ-ส่งช้าง การซื้ออาหารให้ช้าง การให้อาหารช้าง การอาบน้ำและเล่นน้ำกับช้าง การขี่ช้าง การเล่นเกม สร้างงานศิลปะร่วมกับช้าง และส่งช้างกลับบ้าน

การบำบัดทางเลือก

รูปช้างจำลอง สำหรับฝึกซ้อมการขึ้นนั่งบนหลังช้าง

ผลการวิจัย พบว่าหลังเข้ารับการบำบัดโดยช้าง เด็กมีการพัฒนาทุกด้าน เช่น การสัมผัส จากที่ไม่กล้าสัมผัสก็จะกล้าขึ้น การทรงตัวและการทรงท่าดีขึ้น ทักษะสังคมดีขึ้น และการดำเนินกิจวัตรประจำวันดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังให้ความเห็นว่ามีการพัฒนาดีขึ้นทั้งที่บ้านและโรงเรียนด้วย ซึ่งในทางวิจัยพบว่ามีการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งระยะเวลาที่บำบัดคือ 3 สัปดาห์ เป็นระยะเวลาที่สอดคล้องกับการเชื่อมโยงของสมองที่จะเกิดการพัฒนาอย่างถาวร สรุปได้ว่า ช้างบำบัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กออทิสติกให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเด็กจะสงบลง มีสมาธิ พร้อมให้ความร่วมมือ และสามารถร่วมกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

สิ่งที่ต้องพึงระวังในการบำบัดด้วยช้าง คือ มาตรการด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการความปลอดภัยสำหรับช้างที่มีผลต่อความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งช้างที่เข้าโครงการต้องปลอดโรคติดต่อ มีการฝึกปฏิบัติกิจกรรมการบำบัดจนมั่นใจในความปลอดภัย มีเจ้าเหน้าที่ ควาญช้าง คอยดูแลความปลอดภัยตลอดการดำเนินกิจกรรม ฝึกให้ช้างจำกลิ่น เสียง หน้าตา ท่าทางของเด็ก ในฐานะเพื่อนเล่นกัน วิเคราะห์พฤติกรรมของช้างและเด็กระหว่างการดำเนินกิจกรรม มีระบบการให้อาหาร น้ำ การพักผ่อน อาหารเสริมอย่างเพียงพอ มีกิจกรรมคลายเครียดให้กับช้าง

มาตรการความปลอดภัยสำหรับเด็กระหว่างร่วมกิจกรรมกับช้าง คือ เด็กได้รับการแนะนำให้รู้จักช้างผ่านสื่อภาพถ่าย วิดิทัศน์ เกี่ยวกับช้างของตน จัดกิจกรรมแนะนำช้างที่เหมาะสม ไม่ทำให้เด็กตื่นกลัวช้าง เด็กเรียนรู้วิธีปฏิบัติต่อช้างผ่านการกำกับดูแลจากนักบำบัด ควาญช้าง และพี่เลี้ยงผู้ร่วมกิจกรรม และเลือกช้างที่มีบุคลิกสอดคล้องกับเด็ก

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2550). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

ภาควิชากิจกรรมบำบัด, คณะเทคนิคการแพทย์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2011). โครงการช้างบำบัด. [Online], Available URL: http:/www.tetp.org

 

บทความต้นฉบับ :
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). สมุทรปราการ: ทีเอส อินเตอร์พริ้นท์.

พิมพ์ครั้งที่ 1: 2550
พิมพ์ครั้งที่ 2: 2564

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2564). ช้างบำบัด. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt17-elephanttherapy.htm

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

บทความเพิ่มเติมเรื่องการบำบัดด้วยสัตว์

การบำบัดด้วยสัตว์

 

สุนัขบำบัด

 

อาชาบำบัด

 

โลมาบำบัด

 

มัจฉาบำบัด

 

แมวบำบัด

 

ช้างบำบัด

 

กระบือบำบัด

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

alternative therapy

art therapy

music therapy

drama therapy

acupuncture

nutritional therapy

HEG: hemoencephalography

TMS: Transcranial Magnetic Stimulation

HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy

robot therapy

animal therapy

ข้อมูลเพิ่มเติม »