ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
Autism Spectrum Disorder : Behavior Modification
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior Modification) ประกอบด้วย การวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behavior Analysis; ABA) และกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral Modification Procedure) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 เรื่อง คือ
1) ส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อเนื่อง
2) หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
3) สร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรทำตั้งแต่อายุน้อย ทำอย่างเข้มข้น และทำอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยไม่ขึ้นกับโปรแกรม หรือปรัชญาที่ใช้ในการฝึก พบว่าช่วยเสริมสร้างทักษะด้านภาษา ทักษะสังคม ทักษะการคิด และทักษะอื่นๆ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับความเครียดของผู้ปกครองด้วย
ในการประเมินพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ จะทำการประเมินทั้ง ทักษะการปรับตัว (Adaptive skill) และลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหา (Problem behavior)
ทักษะการปรับตัว มักประเมินโดยใช้ แบบประเมิน Vineland Adaptive Behavior Scales หรือสังเกตจากการเล่นของเด็ก ว่าเป็นลักษณะการเล่นแบบใด ส่วนลักษณะพฤติกรรมที่เป็นปัญหา แบบประเมินที่นำมาใช้ ได้แก่ The Autism Diagnostic Interview (ADI) หรือ The Autism Diagnostic Observation Schedule (ADOS)
เทคนิคที่ใช้มีพื้นฐานมาจากหลักการของทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning theory) และหลักพฤติกรรมในเรื่องสิ่งเร้ากับการตอบสนอง เริ่มต้นโดยเลือกพฤติกรรมที่เป็นปัญหา วิเคราะห์ว่าอะไรคือสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้น (Antecedents) อะไรคือผลลัพธ์ หรือการตอบสนองที่ตามมา (Consequences) แล้วใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการจัดการสิ่งเร้าหรือผลที่ตามมา เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือ การให้แรงเสริม (Reinforcement) เมื่อมีพฤติกรรมที่ต้องการ แรงเสริมมีทั้งสิ่งที่จับต้องได้ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งตัวเสริมแรง มีหลายลักษณะ ได้แก่
- ตัวเสริมแรงทางสังคม (Social reinforcers) เช่น คำชมเชย ยกย่อง ตบมือ ยิ้ม กอด หอมแก้ม แสดงการยอมรับ เป็นต้น
- ตัวเสริมแรงที่เป็นวัตถุ สิ่งของ (Material reinforcers) เช่น ขนม ของเล่น สติกเกอร์ ช็อกโกแลต เป็นต้น
- การใช้กิจกรรมที่อยากทำที่สุดมาเสริมแรงกิจกรรมที่อยากทำน้อยที่สุดหรือไม่อยากทำ (Activity reinforcers)
- การสะสมแต้มหรือสะสมดาวเพื่อแลกของรางวัล (Token economy)
- การให้ข้อมูลป้อนกลับเชิงบวก (Positive feedback)
- ตัวเสริมแรงภายใน (Intrinsic reinforcers) เช่น ความภาคภูมิใจ ความสุข เป็นต้น
การลงโทษ (Punishment) เป็นการลดหรือขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็ก การลงโทษในที่นี้ ไม่ใช่การตีหรือข่มขู่เด็ก แต่ยังมีวิธีการลงโทษอื่น ๆ ที่ได้ผล ได้แก่
- การเข้ามุม (Time out)
- การตำหนิโดยเน้นที่พฤติกรรมด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่นิ่ง (Verbal reprimand)
- การปรับ ตัดสิทธิ์ หรืองด สิ่งที่เด็กชอบ (Response cost)
- การชดเชย แก้ไขมากกว่าที่ทำลงไป (Overcorrection)
กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1) การเป็นแบบอย่างที่ดี (Modeling) ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก หรือแสดงตัวอย่างให้เด็กดูในพฤติกรรมที่ต้องการสร้างให้มีขึ้น เพื่อให้เด็กสังเกตเห็นและเลียนแบบ
2) การชี้แนะ (Prompting) โดยการจัดการเงื่อนไขนำ ทำได้โดยการให้สัญญาณ (signs) หรือตัวบ่งชี้ (cues) เพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่ต้องการสร้างให้มีขึ้น อาจเป็นการจับทำ แตะทำ บอกให้ทำ หรือใช้ป้ายสัญญาณให้ทำหรือหยุดทำ
3) การค่อย ๆ ลดการชี้แนะลง (Fading Prompt) คือ การค่อย ๆ ลดการช่วยเหลือ ลดการชี้แนะ หรือลดแรงเสริม อย่างเป็นระบบ จนสามารถช่วยเหลือตนเอง และการทำได้อย่างอิสระด้วยตนเอง
4) การปรับแต่งพฤติกรรม (Shaping) ใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่พฤติกรรมที่ต้องการ
5) การร้อยเรียง (Chaining) คือ กระบวนการรวมพฤติกรรมย่อย ๆ เข้าด้วยกัน เป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนขึ้น
โปรแกรมที่มีงานวิจัยรับรองว่าได้ผลดีในออทิสติก คือ โปรแกรมการวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ (Applied Behavior Analysis: ABA) ของโลวาส (Lovaas, 1987) เป็นการฝึกพฤติกรรมเด็กแบบเข้มข้น ตัวต่อตัว ตั้งแต่เล็ก โดยใช้หลักการวิเคราะห์พฤติกรรม เน้นการฝึกตัวต่อตัวที่บ้าน ทำอย่างเข้มข้น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องนาน 4 ปี ซึ่งพบว่าได้ผลดีมากในเด็กที่เข้ารับการฝึกก่อนอายุ 5 ปี พบว่าเด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ และเชาว์ปัญญาดีขึ้น สามารถไปเรียนร่วมกับเด็กปกติได้
ถ้าเด็กได้รับการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และกระตุ้นพัฒนาการในด้านที่บกพร่องอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลอย่างต่อเนื่อง เด็กเหล่านี้ก็สามารถที่จะพัฒนาได้เต็มความสามารถที่เขามี
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.
Lovaas, O. I. (1987). Behavioral treatment and normal educational and intellectual functioning in young autistic children. Journal of Consulting and Clinical Psychology, 55(1); 3-9.
Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au22-autism-care-bm.html
(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ชุดความรู้ จิตเวชเด็ก
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
Autistic Academy
รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ
· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
· ออทิสติก 10 คำถาม
· ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
· ระดับความรุนแรงของออทิสติก
· ระดับไอคิวของออทิสติก
· ประเภทของออทิสติก
· ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
· ออทิสติก เกิดจากอะไร
· ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
· ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
· เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
· พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
· การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
· เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
· การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
· การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
· การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
· กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
· แก้ไขการพูด ในออทิสติก
· การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
· การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก