HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Autism Spectrum Disorder: Developmental Intervention

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

การส่งเสริมพัฒนาการ คือการจัดกิจกรรมเพื่อใช้ในการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปตามวัย โดยยึดหลักและลำดับขั้นพัฒนาการของเด็กปกติ ควรทำตั้งแต่อายุน้อย โดยต้องทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอ การออกแบบการฝึกต้องให้เหมาะสมตามสภาพปัญหา ความสามารถ และความเร็วในการเรียนรู้ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน

เด็กควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความสมดุล การส่งเสริมพัฒนาการเพียงด้านเดียว เช่น การสอนพูด โดยไม่ได้พัฒนาทักษะสังคมร่วมไปด้วย อาจทำให้เป็นแบบนกแก้วนกขุนทอง คือ พูดได้เก่งก็จริง แต่ไม่เข้าใจความหมาย ไม่มองหน้าสบตา ไม่สื่อสาร เป็นต้น

กิจกรรมที่นำมาใช้ฝึกสอนต้องเหมาะสมตามระดับพัฒนาการของเด็ก โดยสอนจากง่ายไปยาก ถ้าสอนเร็วเกินไปเด็กก็ทำไม่ได้ วิธีการสังเกตง่าย ๆ คือ สอนในเรื่องที่เด็กคนอื่นในวัยเดียวกันสามารถทำได้

สภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ดี ควรมีความเป็นระเบียบ แบบแผน แบ่งเป็นสัดเป็นส่วนชัดเจน มีความแน่นอน คาดเดาได้ เช่น รู้ว่าสิ่งของที่ต้องการเก็บไว้ที่ไหน ต่อไปจะต้องทำอะไร นั่งเล่นที่มุมไหนได้บ้าง เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจง่ายขึ้น มีความรู้สึกปลอดภัย และไม่ควรมีสิ่งเร้ามากเกินไปซึ่งจะรบกวนสมาธิได้

สิ่งสำคัญมากที่ควรรู้คือ เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีจากคนมากกว่าวัตถุ จากการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันมากกว่าการฟังหรือดูเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว ดังนั้นจึงควรดึงเด็กมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับคนในบ้านให้มากที่สุด ไม่ควรให้นั่งดูโทรทัศน์คนเดียว เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กยิ่งกลับเข้าไปในโลกส่วนตัวของเขาเองมากขึ้น เด็กไม่สามารถเรียนรู้คำศัพท์จากโทรทัศน์ได้ดีเท่ากับการสอนด้วยตัวเราเอง

ทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ที่ควรเริ่มฝึกเป็นอันดับแรก เพื่อดึงเด็กออกจากโลกส่วนตัวของเขาเองมาเรียนรู้โลกภายนอก ควรเน้นในเรื่องการมองหน้าสบตา การมีสมาธิ การฟัง และทำตามคำสั่ง การฝึกทักษะเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นจะใช้เวลานาน และเห็นการเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้เกิดความเครียดทั้งกับผู้ปกครองและตัวเด็กเอง แต่เมื่อเด็กมีทักษะพื้นฐานดีแล้วการต่อยอดในทักษะที่ยากขึ้นก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ควรมีการฝึกทักษะในชีวิตประจำวัน (Activity of Daily Living Training) ควบคู่ไปด้วย โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องกิจวัตรประจำวัน ให้เด็กสามารถทำได้ด้วยตนเองเต็มความสามารถที่เขามีอยู่ โดยต้องการความช่วยเหลือน้อยที่สุด ในการฝึกฝน เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ทีละขั้นตอนจนสามารถปฏิบัติได้ และเกิดเป็นความเคยชิน ติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ตามศักยภาพ ลดการดูแลของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง และเด็กเกิดความภาคภูมิใจ เมื่อเขาสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

ปรัชญาการส่งเสริมพัฒนาการโดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้มีพัฒนาการตามวัย ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้กระตุ้นทักษะทางสังคมและการสื่อสาร มีโปรแกรมที่นำมาใช้กันแพร่หลาย ได้แก่ Developmental Individual Difference (DIR) Model (Greenspan & Wieder, 1997) และ Denver model (Rogers & Lewis, 1989)

DIR Model
เป็นแนวทางที่เน้นสัมพันธภาพเป็นรากฐาน ตอบสนองสิ่งที่เด็กแสดงนำออกมา โดยต่อยอดให้ครบวงรอบของการสื่อสาร หรือขยายทักษะ เพิ่มปฏิสัมพันธ์ เป็นกรอบคิดที่ช่วยให้เข้าใจการประเมิน และออกแบบโปรแกรมการบำบัดให้เหมาะสมกับจุดแข็งและสภาพปัญหาของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางด้านสังคม อารมณ์ และสติปัญญา มากกว่าการเน้นที่ทักษะและพฤติกรรมเฉพาะ โดยใช้เทคนิค Floortime ในการสร้างสัมพันธภาพกับเด็กควบคู่กันไป จึงเรียกว่า DIR/ Floortime

Denver model
เป็นโมเดลแบบกลุ่มที่ใช้ในห้องเรียน แบบมีโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมที่คาดเดาได้ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ความถี่ 5 วันต่อสัปดาห์ ระยะเวลา 12 เดือน โดยเน้นในเรื่อง อารมณ์เชิงบวก การสื่อความหมายในทางปฏิบัติ และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

 

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.

Greenspan, S. & Wieder, S. (1997). Developmental patterns and outcomes in infants and children with disorders in relating and communicating: a chart review of 200 cases of children with autism spectrum diagnoses. Journal of Developmental and Learning Disorders, 1(1): 87–141.

Rogers, S. J. (1996). Brief report: early intervention in autism. J Autism Dev Disord, 26: 243-246.

Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au22-autism-care-development.html

(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

 

แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ   การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก   การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก   การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก   การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก   กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก   แก้ไขการพูด ในออทิสติก   การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก   การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก   การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก   การรักษาด้วยยา ในออทิสติก  

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »