ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
Autism Spectrum Disorder : Vocational Therapy
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
แนวคิดการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในปัจจุบันเปลี่ยนจากการให้ทำงานในสถานพยาบาล หรือโรงงานในอารักษ์ มาสู่ตลาดแรงงานจริง หรือการประกอบอาชีพส่วนตัว ภายใต้การชี้แนะ การฝึกอาชีพ การจัดหางาน และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
กฎหมายก็เอื้อประโยชน์ให้ในเรื่องการจ้างงานคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ได้กำหนดให้มีการรับคนพิการเข้าทำงาน ตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ (มีลูกจ้าง 100 คน ต้องรับคนพิการเข้าทำงาน 1 คน) ถ้าไม่ดำเนินการให้เลือกใช้ตามมาตรา 34 คือ ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือมาตรา 35 คือ ให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้
เพื่อไปสู่เป้าหมายให้บุคคลออทิสติกสามารถทำงาน มีรายได้ และดำรงชีวิตโดยอิสระ พึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เช่น การตรงต่อเวลา การปรับตัวเข้ากับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน ความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น และฝึกทักษะพื้นฐานเฉพาะทางอาชีพ ควบคู่กันไป
ในการทำงานจะมีผู้ฝึกสอนงาน (Job coach) ฝึกให้ ณ ที่ทำงานจริง คอยช่วยเหลือแนะนำในเรื่องเทคนิคการทำงาน และทักษะสังคม ให้คำปรึกษา ประเมินผล และพัฒนาในจุดที่ยังบกพร่องอยู่
บุคคลออทิสติกสามารถประกอบอาชีพได้ปกติ ตามความถนัดของแต่ละคน ถ้ามีการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม และสังคมมีความเข้าใจ เปิดโอกาสให้
เอกสารอ้างอิง
ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555, ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (9 กรกฎาคม 2555). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 (ตอนพิเศษ 119 ง); หน้า 22-23.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติ. (27 กันยายน 2550). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 (61 ก); หน้า 8-24.
Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.
Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au22-autism-care-vocation.html
(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)