HAPPY HOME CLINIC

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ

H   A   P   P   Y       H   O   M   E       A   C   A   D   E   M   Y

 

Autism Spectrum Disorder: Educational Rehabilitation

 

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา (Educational Rehabilitation) มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ได้ แทนการฝึกแต่เพียงทักษะทางวิชาการเท่านั้น

โปรแกรมการสอนในห้องเรียนที่น่าสนใจ คือ โปรแกรม TEACCH (Treatment and Education of Autistic and related Communication handicapped CHildren) พัฒนาโดย Dr.Eric Schopler เน้นการสอนอย่างมีระบบ ขั้นตอน และการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็ก เป็นหัวใจสำคัญ โดยมีการจัดห้องเรียนให้เป็นระบบ จัดของเป็นหมวดหมู่ จัดตารางเวลากิจกรรมต่าง ๆ แน่นอน และมีความคาดหวังที่ชัดเจน ทำให้เด็กรู้ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง และสอนอย่างมีขั้นตอน วิธีการสอนจะเน้นใช้ภาพมากกว่าเสียง สอนให้สื่อสารโดยใช้รูปหรือสัญลักษณ์ต่างๆ เนื้อหาจะครอบคลุมในทักษะทุกด้าน

สำหรับประเทศไทยเอง การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา สำหรับบุคคลออทิสติก มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กล่าวไว้ว่า “การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือผู้ด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าว มีสิทธิและโอกาสที่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ”

หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ดำเนินการในด้านการขยายโอกาสและบริการทางการศึกษาให้ทั่วถึง

ปัจจุบันมีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะทาง โรงเรียนเรียนร่วม ห้องเรียนคู่ขนาน ห้องเรียนปกติ รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย

ควรมีการจัดทำ แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program; IEP) โดยออกแบบให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ ความบกพร่อง และความสนใจของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่าย ไม่สับสน เด็กสามารถนำทักษะที่ได้จากชั้นเรียนไปใช้นอกห้องเรียนได้

กฎกระทรวงว่าด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ออกตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้นิยามว่า “แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หมายความว่า แผนซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลพิการ ตลอดจนกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาให้เป็นเฉพาะบุคคล”

เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถนำมาช่วยเสริมทั้งในด้านการประเมินทักษะการเรียน ช่วยในด้านการสอน ช่วยในการสื่อสาร และเสริมสร้างทักษะสังคม ในเด็กบางคน การสื่อสารผ่านทางแป้นพิมพ์และหน้าจอคอมพิวเตอร์จะง่ายกว่าการใช้ภาษาพูด นอกจากนี้การรับรู้ผ่านทางตัวหนังสือและรูปภาพ ยังสามารถช่วยให้บุคคลออทิสติกสามารถเรียนรู้ และเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาได้ง่ายกว่าด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติ. (5 กุมภาพันธ์ 2551). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 (ตอนที่ 28 ก). หน้า 1-12.

กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ.2552, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ. (8 มิถุนายน 2552). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 126 (ตอนพิเศษ 80 ง); หน้า 45-47.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.

Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.

 

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au22-autism-care-iep.html

(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)

 

ดาวน์โหลดบทความ »

 

 

แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ   การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก   การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก   การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก   การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก   กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก   แก้ไขการพูด ในออทิสติก   การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก   การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก   การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก   การรักษาด้วยยา ในออทิสติก  

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา

· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม

HAPPY HOME ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

ศูนย์วิชาการ ออทิสติก

AUTISM ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »

 

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ศูนย์วิชาการ สมาธิสั้น

ADHD ACADEMY

ข้อมูลเพิ่มเติม »