ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
Autism Spectrum Disorder : Family Empowerment
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน พลังครอบครัว คือ พลังแห่งความสำเร็จ
ผู้ปกครองและพี่น้องของเด็กออทิสติกบางคน อาจมีความต้องการพิเศษเป็นการเฉพาะซึ่งจะต้องให้การช่วยเหลือด้วย ผู้ปกครองมักจะมีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า หรือความเครียดเพิ่มขึ้น พี่น้องอาจจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาพัฒนาการเพิ่มขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ผู้ปกครองได้รับผลกระทบมากขึ้น
ดังนั้นการเตรียมพลังกายและพลังใจในตัวผู้ปกครองเองจึงมีความสำคัญมาก ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล ถึงสิ่งที่ผู้ปกครองเป็นกังวลใจ ปัญหา และแนวทางการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม
สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้กลไกการช่วยเหลือขับเคลื่อนไปได้ คือ การยอมรับว่าลูกมีปัญหา หรือความบกพร่องบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น ควรได้รับการช่วยเหลือและแก้ไข ถึงแม้ว่าจะยังไม่ยอมรับว่าลูกเป็นอะไร แต่ควรรู้ว่าจะช่วยอะไรลูกได้บ้าง การยอมรับปัญหาเร็ว จะช่วยให้เด็กไม่เสียโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ
การเริ่มต้นและการพัฒนาที่ดี คือการสุมหัวเข้าหากัน จับเข่าคุยกัน ช่วยกันในแนวทางเดียวกัน ไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีโอกาสช่วยเหลือเด็กเท่า ๆ กัน
คำแนะนำหลักที่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ คือ
1. ออทิสติก เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ยืนยันได้แน่นอนว่า ไม่ใช่เกิดจากการเลี้ยงดู อย่าโทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกไม่ดีแล้วทำให้เป็นออทิสติก หรือปล่อยให้ดูโทรทัศน์ หรือเล่นแท็บเล็ตมากเกินไปเลยกลายเป็นออทิสติก
2. ออทิสติก สามารถพัฒนาได้ด้วยวิธีการดูแลช่วยเหลือแบบบูรณาการ ไม่ใช่เลือกวิธีที่คิดว่าดีที่สุดเพียงวิธีการเดียวมาดูแลเด็ก
3. เด็กออทิสติก คือศูนย์กลางของการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งต้องมีการออกแบบวางแผนการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละคน ไม่ใช่ทำเหมือนกันทุกคน
4. ครอบครัว คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ทำให้การดูแลช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติก เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เพราะจะช่วยให้การดูแลช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผู้ปกครองทุกคนเริ่มต้นที่ไม่รู้เหมือนกัน แต่ปลายทางแห่งความสำเร็จต่างกันตามการเรียนรู้ของแต่ละคน
ทักษะต่าง ๆ จะสั่งสมตามประสบการณ์ในการดูแลช่วยเหลือที่ได้ลงมือทำไป ไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดี แต่ควรเริ่มต้นลงมือฝึกเด็กก่อนแล้วค่อย ๆ พัฒนาวิธีการตามคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อมองจุดสุดท้ายที่เด็กควรจะเป็น คือ พัฒนาเต็มตามศักยภาพที่เขามีอยู่ ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น ณ วันนี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะวันหนึ่งต้องไปถึงแน่นอน ถ้ายังมีการดูแลด้วยความรักและพัฒนาด้วยความเข้าใจ
จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง แต่ระหว่างทางที่ไปสู่จุดหมายนั้น มีสิ่งสวยงามให้ชื่นชมมากมาย พัฒนาการของเด็กแต่ละขั้น ก็คือสิ่งสวยงามที่น่าชื่นชม การชื่นชมสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ คือ กำลังใจที่ดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry, 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.
Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au22-autism-care-family.html
(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)