ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
แนวทางการดูแลออทิสติก
แบบบูรณาการ
แบบบูรณาการ
Autism Spectrum Disorder : Integrated care
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ในการเดินทาง จุดหมายปลายทางย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าจะไปให้ถึง
แต่ระหว่างทางที่ไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้นั้น ยังมีสิ่งสวยงามให้ชื่นชมอีกมากมาย
พัฒนาการของเด็กออทิสติกในแต่ละขั้น ก็คือสิ่งสวยงาม
การชื่นชมสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ คือ กำลังใจที่ดีที่สุด
บทนำ
ออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำ ๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต
นักวิชาการพยายามศึกษาวิจัยเกี่ยวกับออทิสติก แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ ถึงแม้ว่ายังไม่ทราบสาเหตุ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากการดูแลช่วยเหลือในปัจจุบัน สามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุน้อย และทำอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีวิธีการบำบัดรักษาที่จำเพาะเจาะจงให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาได้ และพัฒนาได้ดีด้วย
วิธีการบำบัดรักษาในปัจจุบันนี้ สามารถช่วยเหลือให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นได้มาก จนสามารถเรียนรู้ ปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคม เรียนหนังสือ และประกอบอาชีพได้ โดยพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตแล้วพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
การดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
การดูแลออทิสติก จำเป็นต้องใช้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team Approach) ซึ่งประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น, นักจิตวิทยา, พยาบาลจิตเวชเด็ก, นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย, นักกิจกรรมบำบัด, นักวิชาการศึกษาพิเศษ, นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ
หัวใจสำคัญของการดูแลไม่ได้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่อยู่ที่ครอบครัวด้วยว่าจะสามารถนำวิธีการบำบัดรักษาต่างๆ ที่ได้รับ มาประยุกต์ใช้ที่บ้านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอหรือไม่
ในการดูแลออทิสติก ไม่มีวิธีการใดที่ดีที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด เพียงวิธีการเดียว และไม่มีรูปแบบที่เป็นสูตรสำเร็จรูปแบบเดียว ที่ใช้ได้กับทุกคน แต่ต้องเป็น “การดูแลแบบบูรณาการ” กล่าวคือ ใช้วิธีการบำบัดรักษาหลายวิธีร่วมกัน โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ ร่วมกับครอบครัวของบุคคลออทิสติก สุมหัวรวมความคิด ช่วยกันออกแบบการดูแลรักษา ให้เหมาะสมกับความสามารถ และสภาพปัญหาของแต่ละคน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แนวทางการดูแล ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม ถ้าเริ่มต้นจากการดูแลด้วยความรัก แล้วค่อย ๆ พัฒนาด้วยความเข้าใจ ก็จะไปสู่จุดหมายปลายทางของการทำให้ เด็กมีการพัฒนาเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ไม่ยาก
การดูแลด้วยความรัก ก็คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนมีอยู่เต็มเปี่ยมอยู่แล้ว แต่ที่นำมาเน้นย้ำ เนื่องจากในความรักที่มีอยู่นี้ มักจะถูกบดบังด้วยความเครียด ความวิตกกังวล ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ และความรู้สึกอื่น ๆ อีกมากมายในบางช่วงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้นมาได้ในการดูแล แต่จำเป็นต้องหาวิธีจัดการกับความรู้สึก อย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับการพัฒนาด้วยความเข้าใจก็เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากกระบวนการพัฒนาต้องอาศัย ความรู้ ความเข้าใจ หลักเบื้องต้นในการพัฒนา คือ
“เด็กเป็นตัวตั้ง ครอบครัวเป็นตัวหาร ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย”
เด็กเป็นตัวตั้ง
กล่าวคือ ไม่มีสูตรสำเร็จรูปสำหรับการดูแลเด็กทุกคน ทุกอายุ ควรเข้าใจธรรมชาติที่ว่า เด็กแต่ละคนมีความเหมือนกัน และมีความแตกต่างกัน เด็กอาจมีความบกพร่องบางด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสามารถบางด้านเช่นเดียวกัน การมองแต่ความบกพร่องบางด้าน และคอยแก้ไขความบกพร่องไปเรื่อย ๆ ก็อาจถึงทางตันในที่สุด
ควรหันกลับมามองในด้านความสามารถของเด็กด้วยว่าเด็กมีความสามารถด้านใดบ้าง เพื่อวางแผนการดูแลให้การส่งเสริมความสามารถที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถช่วยชดเชยความบกพร่องที่มีอยู่ได้
ดังนั้นการดูแลต้องวางแผนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กมีและสิ่งที่เด็กเป็น โดยวางแผนเฉพาะเป็นรายบุคคล ให้มีความเหมาะสมตามวัย และตามพัฒนาการของเด็ก
ครอบครัวเป็นตัวหาร
กล่าวคือ ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแล และคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ถ้าครอบครัวไม่ดูแล แล้วจะมีใครดูแลได้ดีกว่าอีกเล่า แต่ในการดูแลนั้น การมีความรักอยู่เต็มเปี่ยมอาจจะไม่เพียงพอ ถ้าขาดความเข้าใจ การมีความรู้ มีเจตคติที่ถูกต้อง และมีทักษะที่ดี พัฒนาเทคนิควิธีให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ควรมีทั้งครอบครัว ต้องเน้นคำว่า “ครอบครัว” เพราะว่าไม่มีใครเก่งคนเดียว ต้องให้ความไว้วางใจกัน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ครอบครัวเข้มแข็งคือพลังแห่งความสำเร็จ
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อย คือ มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจนเกินไป แม่ดูแลเด็กอย่างทุ่มเท ในขณะที่พ่อพยายามทำงานหนักขึ้น เพื่อจุนเจือครอบครัว ในที่สุดก็เกิดช่องว่าง พ่อก็เริ่มไม่มีทักษะการดูแลเด็ก แม่ก็ไม่ไว้ใจให้พ่อดูแล ช่องว่างก็มากขึ้น จนเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาในที่สุด
การเริ่มต้นและพัฒนาที่ดี คือการสุมหัวเข้าหากัน พูดคุยกัน ไว้วางใจกัน และหารความรัก ให้ทุกคนในครอบครัวมีโอกาสช่วยเหลือเด็กเท่า ๆ กัน เริ่มต้นก้าวเดินไปพร้อมกัน ประคับประคองซึ่งกันและกัน
ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย
ณ วันนี้ ความก้าวหน้าทางวิชาการมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เป็นไปไม่ได้ที่คนเดียวจะรู้ทุกอย่าง มีทักษะทุกด้าน ตัวช่วยจึงมีความจำเป็น
ทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น, นักจิตวิทยา, พยาบาลจิตเวชเด็ก, นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย, นักกิจกรรมบำบัด, นักวิชาการศึกษาพิเศษ, นักสังคมสงเคราะห์ หรือวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นตัวช่วยที่สามารถให้คำแนะนำ คำปรึกษา และสาธิตเทคนิควิธีต่าง ๆ ให้นำไปฝึกปฏิบัติต่อไปได้
แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น ไม่ใช่ตัวหลักอย่างเช่นครอบครัว ฉะนั้นถ้าบทบาทผิดเพี้ยนไปจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นตัวหลักขึ้นมา จะทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่จริง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่ ผู้เชี่ยวชาญจะรู้จักและเข้าใจเด็กได้ดีกว่าครอบครัวที่อยู่กับเด็กตลอด
เมื่อมองจุดสุดท้ายที่เด็กควรจะเป็น คือ พัฒนาเต็มตามศักยภาพที่เขามีอยู่ ถ้ายังไม่ถึงจุดนั้น ณ วันนี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะวันหนึ่งต้องไปถึงแน่นอน ถ้ายังมีการดูแลด้วยความรักและพัฒนาด้วยความเข้าใจ โดยยึดหลัก “เด็กเป็นตัวตั้ง ครอบครัวเป็นตัวหาร ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย”
“ในการเดินทาง จุดหมายปลายทางย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าจะไปให้ถึง แต่ระหว่างทางที่ไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้นั้น ยังมีสิ่งสวยงามให้ชื่นชมอีกมากมาย พัฒนาการของเด็กออทิสติกในแต่ละขั้น ก็คือสิ่งสวยงาม การชื่นชมสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ คือ กำลังใจที่ดีที่สุด”
สำหรับแนวทางการดูแลออทิสติกมีความหลากหลาย ในที่นี้ได้สรุปรวบรวมแนวทางหลัก ออกเป็น 10 แนวทาง ดังนี้
1. การส่งเสริมพลังครอบครัว »
2. การส่งเสริมความสามารถ »
3. การส่งเสริมพัฒนาการ »
4. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม »
5. กิจกรรมบำบัด »
6. แก้ไขการพูด »
7. การฝึกทักษะสังคม »
8. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา »
9. การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ »
10.การรักษาด้วยยา »
นอกจากแนวทางหลักข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันยังมีการแพทย์เสริมและทางเลือกที่หลากหลาย สามารถเลือกใช้ควบคู่กับแนวทางหลัก ตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหา และผลการตอบสนองที่ได้รับของเด็กแต่ละคน ในที่นี้ได้รวบรวม 10 แนวทาง ดังนี้
1. ศิลปะบำบัด (art therapy) »
2. ดนตรีบำบัด (music therapy) »
3. ละครบำบัด (drama therapy) »
4. การฝังเข็ม (acupuncture) »
5. โภชนบำบัด (nutritional therapy) »
6. การรักษาด้วยเครื่องเอชอีจี (HEG: hemoencephalography) »
7. การรักษาด้วยทีเอ็มเอสในออทิสติก (TMS: Transcranial Magnetic Stimulation) »
8. การรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง (HBOT: Hyperbaric Oxygen Therapy) »
9. หุ่นยนต์บำบัด (robot therapy) »
10. การบำบัดด้วยสัตว์ (animal therapy) »
เอกสารอ้างอิง
เดือนฉาย แสงรัตนายนต์. (2545). คู่มือฝึกพูดเด็กออทิสติกสำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแล เด็กออทิสติก. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). คู่มือการดูแลสุขภาพจิตเด็ก กลุ่มปัญหาการเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555. (9 กรกฎาคม 2555). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 129 (ตอนพิเศษ 119 ง); หน้า 22-23.
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ.2552. (6 พฤษภาคม 2552). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 126 (ตอนพิเศษ 80 ง); 45-47.
American Psychiatric Association, Neurodevelopmental Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 31-86.
Boland, R. & Verduin, M. L., eds. (2022). Neurodevelopmental disorders and other childhood disorders. In: Kaplan and Sadock’s synopsis of psychiatry 12th ed. (e-book). Wolters Kluwer; pp. 306-725.
Bundy, A. C., Lane, S. J., Murray, E. A. (2002). Sensory integration: theory and practice. 2nd ed, Philadelphia: F.A. Davis Company.
Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health and Human Services. (2021). Prevalence and characteristics of autism spectrum disorder among children aged 8 years - autism and developmental disabilities monitoring network, 11 sites, United States, 2018. MMWR Surveill Summ, 70(11): 1–20.
Corsello, C. M. (2005). Early intervention in autism. Infants & Young Children, 18 (2): 74–85
First, M. B., Yousif, L. H., Clarke, D. E., Wang, P. S., Gogtay, N. & Appelbaum, P. S. (2022). DSM-5-TR: overview of what’s new and what’s changed. from https://doi.org/10.1002/wps.20989.
Fombonne, E. (1999). The epidemiology of autism: a review. Psychological Medicine, 29: 769-786.
Tanguay, R. E. (2000). Pervasive developmental disorders: a 10-year review. J Am Acad Child Adolese Psychiatry, 39: 1079-1095
Volkmar, F. R., Van Schalkwyk, G. I. & Van der Wyk, B. (2018). Autism Spectrum Disorder. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 5th ed. Martin, A., Volkmar, F. R. & Bloch, M., eds. Philadelphia: Wolters Kluwer; pp. 1164-1195.
World Health Organization. (1993). The ICD-10 classification of mental and behavioural disorders: diagnostic criteria for research. [Electronic version]. Geneva, WHO.
Zeidan, J., Fombonne, E., Scorah, J., Ibrahim, A., Durkin, M. S., Saxena, S., Yusuf, A., Shi, A. & Elsabbagh, M. (2022). Global prevalence of autism: A systematic review update. Autism Research, 15: 778–790.
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ. จาก https://www.happyhomeclinic.com/au22-autism-care.html
(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2549)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ
ออทิสติก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก
Autistic Academy
รวบรวมความรู้ที่เป็นปัจจุบัน เกี่ยวกับออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) ในแง่มุมต่างๆ แนวทางการดูแลรักษาแบบบูรณาการ รวมถึงออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษ
· ออทิสติก - Autism Spectrum Disorder
· ออทิสติก 10 คำถาม
· ออทิสติกแท้ ออทิสติกเทียม
· ระดับความรุนแรงของออทิสติก
· ระดับไอคิวของออทิสติก
· ประเภทของออทิสติก
· ออทิสติก พบได้มากแค่ไหน
· ออทิสติก เกิดจากอะไร
· ออทิสติก ป้องกันได้ไหม
· ออทิสติก โตแล้วเป็นอย่างไร
· เรียนรู้และเข้าใจเด็กออทิสติก
· พฤติกรรมแปลกๆของเด็กออทิสติก
· การเลี้ยงดูเด็กออทิสติก
· เมื่อเด็กออทิสติกถึงวัยเรียน
· เด็กออทิสติกกับการเล่นสมมติ
· พฤติกรรมการเล่นในเด็กออทิสติก
· แนวทางส่งเสริมการเล่นในเด็กออทิสติก
· ออทิสติก กับปัญหาการนอน
· แนวทางการดูแลออทิสติกแบบบูรณาการ
· การส่งเสริมพลังครอบครัว ในออทิสติก
· การส่งเสริมความสามารถ ในออทิสติก
· การส่งเสริมพัฒนาการ ในออทิสติก
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในออทิสติก
· กิจกรรมบำบัด ในออทิสติก
· แก้ไขการพูด ในออทิสติก
· การฝึกทักษะสังคม ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ในออทิสติก
· การฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ ในออทิสติก
· การรักษาด้วยยา ในออทิสติก
· การบำบัดทางเลือก ในออทิสติก
· อัจฉริยะกับออทิสติก
· ซาวองต์ ซินโดรม
· ออทิสติก ซาวองต์
· ระดับความสามารถของอัจฉริยะออทิสติก
· รูปแบบการคิดของอัจฉริยะออทิสติก
· แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะออทิสติก
· รหัสพันธุกรรมของอัจฉริยะออทิสติก
· การประเมิน อัจฉริยะออทิสติก
· Rain Man จากเรนแมน สู่ออทิสติก
· Good Doctor หมออัจฉริยะ ออทิสติก
· Move to Heaven สู่ความเข้าใจแอสเพอร์เกอร์
· Attorney Woo ทนายอัจฉริยะ ออทิสติก
· อัจฉริยะออทิสติก: คิม พีค
· อัจฉริยะออทิสติก: เทมเพิล แกรนดิน
· อัจฉริยะออทิสติก: สตีเฟน วิลท์เชียร์
· อัจฉริยะออทิสติก: แดเนียล แทมเมต
· แอสเพอร์เกอร์
· เมื่อลูกเป็นแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม
· พีดีดี เอ็นโอเอส
· ลิงก็เป็นออทิสติกได้
· หมาก็เป็นออทิสติกได้
· วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก
ศูนย์วิชาการ ออทิสติก