ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การล้างพิษบำบัดในออทิสติก
Chelation Therapy in Autism
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การบำบัดรักษาทางเลือกมีหลายวิธี
บางวิธียืนยันแล้วว่าไม่ได้ผล บางวิธียังไม่มีผลยืนยัน
บางวิธีมีความเสี่ยงที่ต้องระวัง บางวิธีมีค่าใช้จ่ายสูง
การเลือกใช้ควรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอ
การล้างพิษบำบัด (chelation therapy) เป็นการบำบัดรักษาที่ได้ผลในการกำจัดโลหะหนักออกจากร่างกาย เพื่อลดความเป็นพิษต่อร่างกาย มีการทดลองนำมาใช้เป็นการบำบัดทางเลือกในกลุ่มผู้ป่วยออทิสติก แต่ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันชัดเจนถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการบำบัดรักษา
ในปัจจุบัน การล้างพิษบำบัดยังไม่ถือเป็นการรักษามาตรฐานหรือได้รับการพิสูจน์แล้วในออทิสติก ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้นำมาใช้ การเลือกใช้จึงควรมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอ โดยเฉพาะความเสี่ยงสูงที่ต้องระวัง และควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ความหมาย
การล้างพิษบำบัด (chelation therapy) หรือเรียกว่าทับศัพท์ว่า “คีเลชัน” (chelation) เป็นการบำบัดรักษาเพื่อกำจัดโลหะหนักออกจากร่างกาย โดยการให้สารเคมีที่ใช้ในการล้างพิษ ซึ่งเรียกว่า “chelator” หรือ “chelating agent” เข้าสู่ร่างกาย เพื่อจับกับโลหะหนักแล้วกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
สารเคมีที่ใช้ในการล้างพิษ ขึ้นอยู่กับประเภทของโลหะหนัก และชนิดของการเกิดพิษ สารเคมีที่นำมาใช้ ได้แก่ ethylenediamine tetraacetic acid (EDTA), dimercaptosuccinic acid (DMSA), dimercapto-propane sulfonate (DMPS) และ dimercaprol (British anti-Lewisite; BAL)
ข้อบ่งชี้
การล้างพิษบำบัด มีข้อบ่งชี้ในการใช้สำหรับบุคคลที่เป็นพิษจากโลหะหนัก (metal poisoning) เป็นหลัก ใช้เพื่อกำจัดโลหะหนักออกจากร่างกาย เช่น สารปรอท สารตะกั่ว สารสารหนู สารยูเรเนียม สารพลูโตเนียม เป็นต้น
แหล่งสารพิษจากโลหะหนัก ได้แก่ การสัมผัสโดยตรง ควันรถ ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ยาฆ่าแมลง เป็นต้น โลหะหนักเหล่านี้ตกค้างอยู่ตามผนังหลอดเลือดและในเนื้อเยื่อร่างกาย หากมีการสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก จะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการทางสมองและระบบประสาทได้
การล้างพิษบำบัด ถูกนำมาใช้เป็นการบำบัดทางเลือกในหลายกรณี โดยไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเพียงพอ ทั้งในโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงโรคออทิสติกด้วย
สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ ไม่มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการการล้างพิษบำบัดในออทิสติก ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้นำมาใช้ และองค์กรหรือวิทยาลัยแพทย์ด้านพิษวิทยาชั้นนำได้ออกคำเตือนสู่สาธารณะเกี่ยวกับอันตรายของการล้างพิษบำบัดด้วย
กลไกการออกฤทธิ์
สารที่ใช้ในการล้างพิษ เช่น EDTA หรือ DMSA นำเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือด กล้ามเนื้อ ทางปาก หรือพ่นทางจมูก เพื่อไปจับกับโลหะหนักในกระแสเลือด และขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
การกำจัดโลหะหนักอาจทำให้ผู้ป่วยออทิสติกมีอาการดีขึ้น มาจากสมมติฐานที่ว่า เหตุปัจจัยในการเกิดโรคอย่างหนึ่ง คือเกิดจากความเป็นพิษของโลหะหนัก ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก
1. การสัมผัสโลหะหนักในปริมาณสูง เช่น สารปรอท ส่งผลต่อการทำลายของระบบประสาท บกพร่องทางสติปัญญา
กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลมชัก และพูดไม่ได้ แต่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า ออทิสติกมีสารปรอทในร่างกายสูงกว่าทั่วไป
2. ความเชื่อมโยงของการเพิ่มขึ้นของออทิสติก กับการใช้วัคซีนที่มีสาร thimerosal ซึ่งเป็นสารประกอบของปรอท เป็นสารกันเสีย (preservation)
ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราในวัคซีน แต่งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนสมมติฐานนี้
3. ความสามารถในการขับถ่ายโลหะหนักลดลง ซึ่งเกิดจากอาหารที่ทำจากนมทั้งหมด ทำให้ร่างกายผลิตกลูตาไธโอน (glutathione) ลดลง
ทำให้ไม่พอจับกับปรอทและโลหะหนักอื่น เพื่อขับออกจากร่างกาย
4. การใช้ยาปฏิชีวนะปริมาณมาก ทำลายแบคทีเรียแอนแอโรบปกติในลำไส้ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนเมทิลเมอร์คิวรี ให้เป็นปรอทอนินทรีย์ได้
ส่งผลให้ขับสารปรอทออกจากร่างกายลดลง
ประสิทธิผล
ยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประสิทธิผลของการล้างพิษบำบัดในออทิสติก การทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่และทำอย่างรัดกุม ไม่ได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกที่ชัดเจน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการรักษามีมากกว่าประสิทธิผลที่อาจเกิดขึ้น สามารถนำไปสู่ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้
จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ (systematic review) จำนวน 5 เรื่อง พบว่า มีข้อจำกัดทั้งเรื่องของปริมาณและคุณภาพ คือ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาน้อย และระเบียบวิธีวิจัยยังมีจุดอ่อนอยู่ ผลลัพธ์ไม่สามารถสนับสนุนการใช้วิธีล้างพิษบำบัดในออทิสติกได้
ความปลอดภัย
การล้างพิษบำบัด ไม่ถือว่าเป็นการบำบัดรักษาที่ปลอดภัย ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อให้ยาไม่ถูกต้อง หรือไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์อย่างแท้จริง
ผลข้างเคียงที่พบรวมถึง ความเสียหายของไต ความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย จนถึงผลข้างเคียงที่ร้ายแรงถึงชีวิต มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยการล้างพิษบำบัด ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จึงไม่สนับสนุนให้ใช้ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพิษจากโลหะหนัก
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่พบได้ ดังนี้
1. ความเสียหายของไต (kidney damage) การขับโลหะหนักออกจากร่างกายส่งผลให้ไตทำงานหนัก นำไปสู่ความเสียหายหรือความผิดปกติในการทำงานของไต โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาไตอยู่แล้ว2. ความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (electrolyte imbalances) การบำบัดทำลายสมดุลของแร่ธาตุที่จำเป็นในร่างกาย รวมถึงแคลเซียมและแมกนีเซียม ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และปวดกล้ามเนื้อ
3. ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ชา รู้สึกเสียวซ่า หรือเกิดอาการชักได้
4. ปฏิกิริยาการแพ้ (allergic reactions) อาจเกิดได้ตั้งแต่ผื่นผิวหนังเล็กน้อย ไปจนถึงภาวะช็อกจากภูมิแพ้อย่างรุนแรง
5. ระบบทางเดินอาหารแปรปรวน (gastrointestinal distress) ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
6. ความดันโลหิตสูง (high blood pressure) อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วคราวระหว่างและหลังการรักษา
7. อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) ได้แก่ เหนื่อยล้า มีไข้ และหนาวสั่น
8. ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular complications) รวมถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตต่ำ
9. การติดเชื้อ (infection) การล้างพิษทางหลอดเลือดดำอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณที่ฉีดได้
10. การกดไขกระดูก (bone marrow suppression) สารที่ใช้ล้างพิษบางชนิดสามารถกดไขกระดูก ลดการผลิตเซลล์เม็ดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง
11. ภาวะขาดสารอาหาร (nutrient deficiencies) การที่ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็น อาจนำไปสู่การขาดสารอาหารได้
12. อาการทางระบบประสาท (neurological symptoms) เกิดอาการสับสน (confusion) และความสับสนในเรื่องเวลา สถานที่ บุคคล (disorientation) ได้ แต่ไม่ค่อยพบ
13. การเสียชีวิต (death) เป็นกรณีร้ายแรงที่มีรายงานทางการแพทย์ ซึ่งผลชันสูตรศพในรายหนึ่ง พบว่า มีความเสียหายของไต ความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายรุนแรง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ความท้าทาย
ความท้าทายหลักที่เกี่ยวข้องกับการล้างพิษบำบัดในออทิสติก คือ ขาดข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอ และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเท่านั้น
ประเด็นด้านจริยธรรมก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากเป็นการบำบัดรักษาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในออทิสติก และไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ จึงไม่ควรนำมาใช้เป็นการทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการศึกษาวิจัยทดลองในคนเพิ่มเติม จำเป็นต้องมีหลักฐานที่สนับสนุนว่าโลหะหนักทำให้เกิดโรคออทิสติก หรือทำให้ความรุนแรงของโรคออทิสติกแย่ลง และต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัยของการล้างพิษบำบัดสำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยอย่างชัดเจน
เอกสารอ้างอิง
Adams, J. B., Baral, M., Geis, E., Mitchell, J., et al. (2009). Safety and efficacy of oral DMSA therapy for children with autism spectrum disorders: Part A - Medical results. BMC Clinical Pharmacology, 9: 16. doi:10.1186/1472-6904-9-16
Adams, J. B., Baral, M., Geis, E., Mitchell, J., et al. (2009). Safety and efficacy of oral DMSA therapy for children with autism spectrum disorders: Part B - Behavioral results. BMC Clinical Pharmacology, 9: 17. doi:10.1186/1472-6904-9-17
Davis, T. N., O'Reilly, M., Kang, S., Lang, R., et al. (2013). Chelation treatment for autism spectrum disorders: A systematic review. Research in Autism Spectrum Disorders, 7 (1): 49–55. doi:10.1016/j.rasd.2012.06.005
James, S., Stevenson, S. W., Silove, N. & Williams, K. (2015). Chelation for autism spectrum disorder (ASD) (Review). Cochrane Database Syst Rev, 5: CD010766. doi:10.1002/14651858.CD010766.pub2
Rudy, L. J. (2023). The Risks of Chelation Therapy for Autism. from https://www.verywellhealth.com/chelation-therapy-for-autism-4582148
Wikipedia. (2023). Chelation therapy. from https://en.wikipedia.org/wiki/Chelation_therapy
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2566). การล้างพิษบำบัดในออทิสติก. จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt43-chelation.html
(บทความต้นฉบับ: พฤศจิกายน 2566)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก
ในเด็กพิเศษ
ในเด็กพิเศษ