ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม
รวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูลความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่น
รวมถึงการรับจัดฝึกอบรม สัมมนา กิจกรรมวิชาการ นิทรรศการเผยแพร่ความรู้
เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
การศึกษาพืเศษ
Special Education
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษาพิเศษ หมายถึง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการศึกษาที่จัดให้ตามระบบปกติ เป็นการศึกษาที่มีความแตกต่างไปจากทั่วไป ทั้งในด้านวิธีสอน กระบวนการ หลักสูตร เนื้อหาวิชา เครื่องมือ อุปกรณ์การเรียน และเทคโนโลยีสิ่งอํานวยความสะดวก
นอกจากนี้การศึกษาพิเศษยังมีขอบเขตครอบคลุมถึงการจัดการศึกษาให้เด็กกับปัญญาเลิศ หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ซึ่งเด็กเหล่านี้มักไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการศึกษาที่จัดให้ตามระบบปกติเช่นเดียวกัน
การศึกษาพิเศษ เป็นรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา ที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ซึ่งทำให้เกิดผลดีในระยะยาว โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นการเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ควบคู่ไปกับทักษะทางวิชาการ
ครูการศึกษาพิเศษ หมายถึง ครูที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษสูงกว่าระดับปริญญาตรีขึ้นไป หรือครูที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษระดับปริญญาตรีที่ผ่านการประเมินทักษะการสอนคนพิการ ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการกำหนด และปฏิบัติหน้าที่สอน จัดการศึกษา นิเทศ หรือหน้าที่อื่นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program; IEP) หมายถึง แผนซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลพิการ ตลอดจนกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาให้เป็นเฉพาะบุคคล จึงควรมีการออกแบบให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ ความบกพร่อง และความสนใจของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่าย ไม่สับสน เด็กสามารถนำทักษะที่ได้จากชั้นเรียนไปใช้นอกห้องเรียนได้
โปรแกรมการสอนในห้องเรียนที่มีการนำมาใช้ ได้แก่ โปรแกรม TEACCH (Treatment and Education of Autistic and related Communication handicapped CHildren) พัฒนาโดย Dr.Eric Schopler เน้นการสอนอย่างมีระบบ ขั้นตอน และการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็ก เป็นหัวใจสำคัญ โดยมีการจัดห้องเรียนให้เป็นระบบ จัดของเป็นหมวดหมู่ จัดตารางเวลากิจกรรมต่าง ๆ แน่นอน และมีความคาดหวังที่ชัดเจน ทำให้เด็กรู้ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง และสอนอย่างมีขั้นตอน วิธีการสอนจะเน้นใช้ภาพมากกว่าเสียง สอนให้สื่อสารโดยใช้รูปภาพหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เนื้อหาจะครอบคลุมในทักษะทุกด้าน
การศึกษาพิเศษในประเทศไทยระยะแรก จัดให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 4 ประเภท คือ เด็กที่บกพร่องทางการเห็น ทางการได้ยิน ทางร่างกาย และทางสติปัญญา ตามลำดับ
· ปี พ.ศ. 2481 มีการสอนอักษรเบรลล์ (braille) ให้คนตาบอดเป็นครั้งแรกที่ตำบลศาลาแดง จังหวัดพระนคร· ปี พ.ศ. 2494 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งหน่วยทดลองสอนคนหูหนวกขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนเทศบาล 17 (โรงเรียนวัดโสมนัสในปัจจุบัน)
· ปี พ.ศ. 2501 กรมสามัญศึกษา ได้ส่งครูในสังกัดไปช่วยสอนเด็กป่วยเรื้อรังตามเตียงในโรงพยาบาลศิริราช โดยเฉพาะโรคไขสันหลังอักเสบ (Poliomyelitis) หรือโรคโปลิโอ
· ปี พ.ศ. 2503 กระทรวงสาธารณสุข เปิดบริการโรงพยาบาลปัญญาอ่อน เพื่อดูแลผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่ถนนดินแดง (สถาบันราชานุกูลในปัจจุบัน)
การศึกษาพิเศษมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีทางเลือกในการศึกษาเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบสถานศึกษาเฉพาะความพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ การเรียนร่วม ห้องเรียนคู่ขนาน ห้องเรียนปกติ รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย
เอกสารอ้างอิง
การจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ พ.ศ. 2551, พระราชบัญญัติ. (5 กุมภาพันธ์ 2551). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 125 (ตอนที่ 28 ก); หน้า 2.
การจัดการศึกษาสําหรับคนพิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556, พระราชบัญญัติ. (17 พฤษภาคม 2556). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 130 (ตอนที่ 42 ก); หน้า 1.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). คู่มือการดูแลสุขภาพจิตเด็ก กลุ่มปัญหาการเรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: พรอสเพอรัสพลัส.
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2561). คู่มือการดูแลเด็กออทิสติก. กรุงเทพฯ: บียอนด์ พับลิสชิ่ง.
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550, พระราชบัญญัติ. (27 กันยายน 2550). ใน: ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 124 (ตอนที่ 61 ก); หน้า 8-24.
Volkmar, F. R., Klin, A. (2000). Pervasive developmental disorders. In: Comprehensive textbook of psychiatry volume II, 7th ed, Sadock, B. J., Sadock, V. A., (eds). Baltimore: William & Wilkins, pp.2659-2678.
Volkmar, F. R., Lord, C., Clin, A., Schultz, R., Cook, E. H. (2004). Autism and the pervasive developmental disorders. In: Lewis’s child and adolescent psychiatry: a comprehensive textbook, 4th ed, Martin A and Volkmar FR, eds. Baltimore: William & Wilkins, pp.384-422.
บทความฉบับแก้ไขล่าสุด: กันยายน 2562
บทความทั้งหมดยินดีให้นำไป เผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา
ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2562). การศึกษาพืเศษ. [Online]. Available URL: http://www.happyhomeclinic.com/specialeducation.htm
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ
· การบำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ
· ศิลปะบำบัด
· ศิลปะบำบัด ศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัด
· ศิลปะบำบัดในเด็กพิเศษ
· ประวัติศิลปะบำบัด
· โปรแกรมศิลปกรรมบำบัด สถาบันราชานุกูล
· การสัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมบำบัด
· ดนตรีบำบัด
· ดนตรีบำบัด พัฒนาชีวิต
· ดนตรีบำบัดในเด็กพิเศษ
· ดนตรีบำบัดรูปแบบเฉพาะ
· การฝังเข็ม ศาสตร์ที่ยั่งยืน
· การบำบัดด้วยเครื่องเอชอีจี
· หุ่นยนต์บำบัด
· การบำบัดด้วยสัตว์
· สุนัขบำบัด
· อาชาบำบัด
· โลมาบำบัด
· มัจฉาบำบัด
· แมวบำบัด
· ช้างบำบัด
· กระบือบำบัด